การใช้พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

1 Views

  พุธที่ 5 พฤษภาคม 2564

การใช้พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
 
ในบทความนี้ ผู้เขียนนำเสนอข้อมูล แนวคิด เทรนด์ และตัวอย่างการประยุกต์ใช้พลาสติกที่มีผลกระทบในเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม โดยคาดหวังว่าบทความนี้จะมีส่วนช่วยให้การพิจารณานำพลาสติกมาใช้เป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม เกิดประโยชน์สูงสุด และนำไปสู่ความยั่งยืนในระยะยาว
 
⦁พลาสติกประเภทต่างๆ พลาสติกมี 7 ประเภท ได้แก่
 
1.Polyethylene Terephthalate (PETE or PET) เป็นพลาสติกที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย และมีสัดส่วนมากกว่า 90% ของขวดพลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติกต่างๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
 
2.High-Density Polyethylene (HDPE) ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลายลักษณะ อาทิ ท่อ ถังเก็บของเหลว โต๊ะและเก้าอี้ เนื่องจาก HDPE มีความแข็งแรงสูงและทนความร้อนได้ดี
 
3.Polyvinyl Chloride (PVC) เป็นที่รู้จักกันดีในลักษณะท่อ PVC โดยพลาสติกประเภทนี้สามารถทำให้อ่อนลงโดยการผสมสารกลุ่ม plasticizer เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในลักษณะอื่นๆ เช่น แผ่นฉนวนหุ้มสายไฟ วัสดุปูพื้น และหนังเทียม เป็นต้น
 
4.Low-Density Polyethylene (LDPE) มีน้ำหนักเบาและแข็งแรงน้อยกว่า HDPE โดยนิยมใช้ทำถุงพลาสติก โฟม และภาชนะต่างๆ
 
5.Polypropylene (PP) มีความแข็งแรงและทนต่อความร้อนได้ดี นิยมใช้ทำอุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการ ขวดน้ำ กระติก ภาชนะบรรจุอาหารที่สามารถนำเข้าเครื่องล้างจานได้ รวมถึง
มีการประยุกต์ใช้ในกลุ่มเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และผ้าอ้อม
 
6.Polystyrene or Styrofoam (PS) มีความแข็ง ใส (แต่สามารถใส่สีได้) รวมถึงมีความเปราะและแตกได้ง่าย เป็นที่นิยมใช้ในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ ขวด ถาดอาหาร และช้อนส้อมแบบใช้แล้วทิ้ง
 
7.พลาสติกประเภทอื่นๆ ได้แก่ polycarbonate styrene fiberglass และ nylon เป็นต้น
 
⦁เทรนด์นวัตกรรมพลาสติกเพื่อความยั่งยืน
อ้างอิงข้อมูลจาก SCG พบว่ามี 5 เทรนด์สำคัญในระดับสากล ที่แสดงให้เห็นนวัตกรรมพลาสติกเพื่อความยั่งยืน ประกอบด้วย
 
1.ทำให้ recycle ได้ง่ายขึ้น พลาสติกนับเป็นวัสดุที่สามารถ recycle ได้ 100% แต่ที่ผ่านมา การใช้พลาสติกได้มุ่งเน้นให้ตอบโจทย์ความต้องการและการใช้งาน ทำให้ผลิตภัณฑ์บางอย่างไม่สามารถ recycle อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีเทรนด์ในการใช้วัสดุชนิดเดียวกันในการทำบรรจุภัณฑ์ที่มีหลายชั้นหรือหลายส่วน ซึ่งทำให้ recycle พลาสติกดังกล่าวได้ง่ายขึ้น
 
2.ลดทรัพยากรการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพของวัสดุ พลาสติกเป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมเฉพาะทาง อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ช่วยลดน้ำหนักและลดอัตราการสิ้นเปลืองพลังงาน วัสดุก่อสร้างที่มุ่งเน้นความคงทนและการกัดกร่อนของสารเคมี และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย การพัฒนาพลาสติกเหล่านี้จึงมุ่งเน้นให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ ทนทาน และมีประสิทธิภาพในการใช้งานได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็มีแนวทางในการลดปริมาณทรัพยากรในการผลิตลงตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy)
 
3.นำขยะกลับมาเป็นวัตถุดิบ เมื่อพลาสติกเป็นวัสดุที่สามารถ recycle ได้ จึงมีการนำขยะพลาสติกมาหมุนเวียนเพื่อใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบต่อไป โดยสามารถจำแนกการ recycle ได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ mechanical recycling ซึ่งเป็นการนำพลาสติกที่ใช้งานแล้วมา recycle เป็นเม็ดพลาสติกและขึ้นรูปเป็นสินค้าเพื่อใช้งาน และ feedback หรือ chemical recycling ซึ่งเป็นการนำพลาสติกกลับไปเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในกระบวนการผลิตทั้งในรูปแบบก๊าซและของเหลว
 
4.พลาสติกชีวภาพและวัตถุดิบทางเลือก พลาสติกชีวภาพถูกคิดค้นเพื่อช่วยให้พลาสติกสามารถย่อยสลายได้เร็วขึ้น โดยพัฒนาจากวัตถุดิบหลากหลายชนิด อาทิ ข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลัง ทั้งนี้ เนื่องจากพลาสติกเป็นผลพลอยได้จากปิโตรเลียมที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงได้มีการคิดค้นการนำวัตถุดิบทางเลือกที่สามารถผลิตใหม่ได้ (Renewable feedstock)
มาใช้ในการผลิตพลาสติก อาทิ Bio-based feedstock และการสังเคราะห์จากคาร์บอนไดออกไซด์
 
5.ความร่วมมือเพื่อความยั่งยืน ความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์ในการร่วมกันพัฒนานวัตกรรมที่ทั้งตอบโจทย์เจ้าของผลิตภัณฑ์และสังคมไปพร้อมๆ กัน เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น BASF ที่จับมือกับ Jaguar Land Rover ร่วมศึกษาการนำขยะมาผลิตชิ้นส่วนในรถยนต์ นอกจากนี้ SCG และ Betagro ได้ร่วมพัฒนาบรรจุภัณฑ์บรรจุชิ้นส่วนไก่สดที่มีความเหนียว รับน้ำหนักได้ดี
และทนทานเป็นพิเศษ
 
⦁ตัวอย่างการประยุกต์ใช้พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
บางคนอาจคิดว่าการใช้พลาสติกมากขึ้น จะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในระยะยาว ในหลายๆ กรณี จะพบว่าการนำพลาสติกมาใช้ทำให้เกิดประโยชน์ มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนชิ้นส่วนรถยนต์ที่เดิมเป็นโลหะมาเป็น polymer ทำให้มีน้ำหนักเบาลง มีผลทำให้สามารถลดการใช้พลังงานหรือเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อน รวมถึงทำให้มีค่าใช้จ่ายที่น้อยลงสำหรับทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้งาน อีกหนึ่งตัวอย่าง ได้แก่ การใช้พลาสติกในการผลิตฉนวนกันความร้อนสำหรับการก่อสร้างบ้านหรืออาคารขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้สามารถประหยัดพลังงานได้อย่างมหาศาล และมีผลกระทบในเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว นอกจากนี้ ท่านที่เคยเดินทางไปในบางประเทศอาจมีโอกาสได้ใช้ธนบัตรที่ผลิตจาก polymer
 
ยกตัวอย่างเช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฮ่องกง อังกฤษ มาเลเซีย และแคนาดา แนวคิดในการใช้ polymer มาผลิตธนบัตรเกิดขึ้นที่ประเทศออสเตรเลียเมื่อกว่า 30 ปีก่อน โดยธนบัตรที่ผลิตจาก polymer มีความทนทานและมีอายุในการใช้งานที่ยาวนานกว่าธนบัตรกระดาษประมาณ 2.5 เท่าขึ้นไป
 
นอกจากนี้ ธนบัตร polymer ยังมีการเคลือบผิวหลังการพิมพ์ จึงทำความสะอาดได้ง่าย ทั้งนี้ ธนบัตร polymer ที่หมุนเวียนและหมดสภาพการใช้งานจะถูกส่งกลับมาทำลายด้วยวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศ รวมถึงสามารถนำไป recycle เพื่อประยุกต์ใช้ในลักษณะต่างๆ ต่อไป
 
ที่มา https://www.matichon.co.th/article/news_2672170