ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ปี’64 คาดแตะ 2 แสนล้านบาท

1 Views

  พุธที่ 5 พฤษภาคม 2564

ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรคาดแตะ 2 แสนล้านบาท ย้ำกลุ่มเครื่องดื่มสุขภาพมาแรง เน้นตลาด Niche ที่มีความต้องการเฉพาะ เติบโตแซงตลาดรวม
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สร้างความไม่แน่นอนทั้งในไทยและต่างประเทศ ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย
 
ประกอบกับข้อกำหนดการรับประทานอาหารในบางพื้นที่ ทำให้การบริโภคเครื่องดื่มนอกบ้านลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
 
ด้านหนึ่งผู้ประกอบการเครื่องดื่มบางส่วนตัดสินใจชะลอการเปิดตัวสินค้าใหม่ออกไป รวมถึงปรับเปลี่ยนช่องทางการจัดจำหน่าย โดยเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายออนไลน์ควบคู่ไปกับการจัดส่งถึงบ้าน และจัดแคมเปญเพื่อรักษาฐานลูกค้าและ Brand Loyalty ไว้ในระยะนี้
 
ดังนั้น ภาพรวมตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic Beverages) ในประเทศ ปี 2564 จะเติบโตอยู่ที่ 0.5-1.5% หรือมีมูลค่าราว 1.97 – 1.99 แสนล้านบาท แต่ยังไม่กลับไปเทียบเท่า ปี 2562 ซึ่งมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท
 
อย่างไรก็ตาม หากในช่วง 1-2 เดือนนี้ สามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ดี จะทำให้ตลาดเครื่องดื่มกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่งได้
 
เนื่องจากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนที่ไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งถือเป็นช่วงพีคของธุรกิจเครื่องดื่ม โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มน้ำดื่มบรรจุขวด น้ำอัดลม และโซดา
 
นอกจากนี้ คาดว่าสินค้ากลุ่มกาแฟพร้อมดื่มแบบ Specialty ที่เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าคอกาแฟ และน้ำผสมวิตามิน เครื่องดื่มวิตามิน และฟังก์ชันนอลดริงก์อื่น ๆ จะเติบโตได้ดีกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของตลาด เนื่องจากยังสามารถดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่ยังมีกำลังซื้อและมองหาเครื่องดื่มใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์เฉพาะได้
 
ทั้งนี้ ตลาดเครื่องดื่มดั้งเดิมและตลาด Mass มีแนวโน้มจะแปรผันตามกำลังซื้อและสภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ยังรักษาส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ไว้ได้
 
ขณะที่เครื่องดื่มรูปแบบใหม่ ซึ่งเน้นตอบโจทย์ตลาด Niche ที่มีความต้องการเฉพาะ คาดว่าจะเติบโตได้ดีกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของตลาด เนื่องจากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น
 
แม้ปัจจุบันเครื่องดื่มรูปแบบใหม่มีส่วนแบ่งตลาดน้อยกว่า แต่มีโอกาสที่จะเพิ่มส่วนแบ่งได้ในระยะยาว โดยมีปัจจัยด้านความต้องการของผู้บริโภคเป็นตัวขับเคลื่อนทิศทางของตลาด
 
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเครื่องดื่มยังมีปัจจัยท้าทายที่อาจกระทบการปรับตัวของธุรกิจ ได้แก่
 
การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มตามปริมาณน้ำตาลครั้งที่ 3 ส่งผลต่อต้นทุนในการพัฒนาและทำตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการจัดเก็บภาษีจะมีความเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงอัตราสูงสุดระดับเพดานในปี 2566
 
ประกอบกับเทรนด์การใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมทำให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งจะส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าที่สอดคล้องไปกับความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคยุดใหม่
 
ที่มา https://www.prachachat.net/marketing/news-603102